chaicatawan

พลังงานไทย..มั่นคงจริงหรือ

ทิศทางพลังงานไทย ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก


 
เสวนาทิศทางพลังงานไทย ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก
มีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับและ Travelista นักเดินทาง จัดเสวนาหัวข้อเรื่อง “ทิศทางพลังงานไทย ในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก” ระดมความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน นำไปสู่ฐานข้อมูลด้านสถานการณ์พลังงานและแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทยในอนาคต ในวันที่ 30 สิงหาคม 2561 เวลา 9.00 – 12.00 น. ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส

 
คุณสาธิตา โสรัสสะ ประธานมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์คลับ กล่าวต้อนรับ




 
โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วยนายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ,ดร.อุริช อัชชโคสิต นักวิชาการด้านพลังงาน ,นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายภัทรพงศ์ เทพา ผู้ช่วยผู้ว่าการนโยบายและแผน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)


 
และคุณวรญา เล้าฐานะเจริญ เป็นผู้ดำเนินรายการ


 
ทั้งนี้เพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์พลังงานและแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย ความต้องการใช้ไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้ารายภาค กรอบในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ แตกต่างจากฉบับเดิมอย่างไร ปัจจัยหลักที่ใช้ในการพยากรณ์ในแผน PDP ฉบับใหม่ ความจำเป็นที่ต้องมีแผน PDP และแผน PDP ฉบับใหม่ จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบไฟฟ้าไทยอย่างไร


 
โดยมีผู้เข้าฟังจากวงการที่เกี่ยวข้องเช่น ภาครัฐ อาทิ เจ้าหน้าที่กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากองค์กรบริหารท้องถิ่น ภาคเอกชน อาทิ ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาหอการค้าประจำจังหวัด สมาคมผู้ประกอบกิจการท่องเที่ยวจังหวัด สื่อมวลชน อาทิ Blogger/เวบมาสเตอร์/ สื่อมวลชนสายพลังงาน / อุตสาหกรรม / สิ่งแวดล้อม ทั้งสื่อออนไลน์และออฟไลน์ ภาควิชาการ สถาบันการศึกษา นักวิชาการพลังงาน นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

 
โดยก่อนหน้านี้การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(PDP)ฉบับใหม่ คำนึงถึงการจัดทำร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นการตอบโจทย์การพัฒนาโรงไฟฟ้า 3 รูปแบบได้แก่ 1.โรงไฟฟ้าเพื่อการแข่งขัน 2.โรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง และ 3. โรงไฟฟ้าที่จะเสริมด้านเศรษฐกิจ

 
โดย PDP ฉบับใหม่ ตามนโยบายกระทรวงพลังงานจะมุ่งสร้างพลังงานเป็นรายภูมิภาครวม 8 ภาค เนื่องจากแต่ละภาคมีข้อจำกัดและประสิทธิภาพที่ต่างกันออกไป ปัจจุบันเทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนโลกหรือ Disruptive ทำให้รูปแบบของการผลิตไฟฟ้าเปลี่ยนไป โดยอนาคตโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อาจจะลดลง และจะแทนที่ด้วยโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่เป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพราะมีเทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนต่ำลง

 
ทั้งนี้ ระบบไฟฟ้าไทยในปัจจุบันเป็นระบบแบบรวมศูนย์ คือ มีโรงไฟฟ้าระบบส่งขนาดใหญ่ และระบบจ่ายไฟฟ้าครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ในอนาคตจะมีกระจายแหล่งผลิตไฟฟ้าและศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าไปสู่ชุมชน รวมถึงมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เพิ่มมากขึ้นด้วย


 
ดังนั้น การเดินหน้าของอุตสาหกรรมไฟฟ้าในยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกต้องรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน คือ การสร้างความยืดหยุ่นของระบบไฟฟ้า โดยโรงไฟฟ้าต้องมีความยืดหยุ่น สามารถเริ่มเดินเครื่องได้รวดเร็ว ส่วนในระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าจะต้องพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid ทำงานผ่านรีโมทมอนิเตอร์ (Remote Monitor) สามารถเรียกดูข้อมูลและสั่งการจากศูนย์ควบคุมแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันที

 

ความมั่นคง และทิศทางของพลังงานไทยจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ติดตามเป็นอย่างยิ่ง

จากใจ ชายคาตะวัน
 
.

Comments

comments

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *