เที่ยวนราธิวาส ชุมชนวัดชลธาราสิงเห สะพานคอย100ปี เกาะยาว ตากใบ จังหวัดนราธิวาส
หลายวันก่อน ผมได้ร่วมทริปเปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวและกิจกรรมท่องเที่ยวใน 6ชุมชนต้นแบบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาจัดขึ้น
ทริปนี้มีทั้งสื่อมวลชนและผู้ประกอบการนำเที่ยว เข้าเยี่ยมชมชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบ “การท่องเที่ยวโดยชุมชน” ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส เพื่อเปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และชวนเที่ยวชุมชนให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ
6 ชุมชนต้นแบบที่ผมได้ไปเยี่ยมชมคือ ชุมชนบางปู ชุมชนทรายขาว จังหวัดปัตตานี หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 9 และหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 10 จังหวัดยะลา และหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 จังหวัดนราธิวาส และชุมชนวัดชลธาราสิงเห จ.นราธิวาส
ชุมชนวัดชลธาราสิงเห
อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พิกัด https://goo.gl/3Xieex
ชุมชนวัดชลธาราสิงเห อ.ตากใบ เป็น1 ใน6 ชุมชุน ที่ผมได้เข้าเยี่ยมชม ที่นี่ผมได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยในสมัยยุคล่าอาณานิคม พร้อมกับสถาปัตยกรรมที่งดงามภายในวัดชลธาราสิงเห และภาษาเจ๊ะเห ซึ่งเป็นภาษาที่ยังใช้พูดกันอยู่ในปัจจุบัน
ตลาดชายแดนตาบา
เรามาถึงตากใบบ่ายแก่ๆ ไปเดินชมตลาดชายแดนตาบากันก่อน อยู่บริเวณชายแดนไทย- มาเลเซีย จำหน่ายสินค้าจำพวกเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาหาร ของสด และผลไม้ ชาวไทยและชาวมาเลเซียที่ข้ามมายังประเทศไทยมักจะมาจับจ่ายใช้ส่อยกันเป็นจำนวนมาก
ไอติมหนมปัง ห่อด้วยกระดาษพับเป็นกรวย เก๋ไปอีกแบบ
ที่นี่ใช้เงินริงกิตของมาเลย์ได้เลย หนูน้อยคนนี้กำลังรอซื้อไอติมในมือกำเงิน10ริงกิต โปรยยิ้มหวานให้กล้องลุงซะด้วย น่ารักมากๆ
จากนั้นก็เข้ารีสอร์ท พักผ่อนเอาแรง
สะพานคอย 100ปี เกาะยาว พิกัด https://goo.gl/pbq3Mr
ตอนเช้าผมและคณะตั้งใจไปถ่ายแสงเช้าสวยๆที่เกาะยาวแบบเต็มที่เลย แต่ฟ้าฝนไม่เป็นใจครับ ฝนตกปรอยๆตั้งแต่ตี5ครึ่งที่มาถึงสะพานคอย 100 ปีแล้ว
สะพานคอย100ปี เป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างตัวอ.ตากใบกับเกาะยาว ปัจจุบันได้สร้างสะพานใหม่ขึ้นมา ขนานไปกับสะพานเดิม ซึ่งสะพานเดิมยังคงใช้เดินข้ามแม่น้ำตากใบได้ แต่รถมอเตอร์ไซต์ใช้สัญญจรไปมาไม่ได้ ให้ใช้ที่สะพานใหม่เท่านั้น
เกาะยาว พิกัด https://goo.gl/3xs4QE
ผมได้สัมผัสเกาะยาวเป็นครั้งแรก เกาะยาวเป็นสันทรายที่กันระหว่างทะเลและแม่น้ำตากใบ ยาวประมาณ14กิโลเมตร มีหาดทรายที่ขาวสะอาดและมีชุมชนชาวมุสลิมที่ประกอบอาชีพประมงอาศัยอยู่หลายครัวเรือน เกาะยาวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของคนในพื้นที่และต่างพื้นที่ วันผมไปฝนตก ฟ้าและน้ำจึงจะไม่สวยนัก แต่เราก็ได้เดินเที่ยวท่ามกลางฝนปรอย และชมวิถีผู้คนภายในชุมชน
รวมถึงทานอาหารเช้าเมนูท้องถิ่น ที่รสชาติอร่อยถูกปากทีเดียว..เชียว!!
ขากลับจากเกาะยาว ผมเดินข้ามไปฝั่งโดยใช้สะพานเก่า ชมวิถี2ฝั่งแม่น้ำตากใบ เดินไปถ่ายรูปไป
ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย หนุกหนานกันไป
กุเลาทอง แม่แป้นตากใบ พิกัด https://goo.gl/kfeoDR
กลับจากเกาะยาว แวะชมการทำปลากุเลา สุดยอดของฝากจากตากใบ ที่กุเลาทอง แม่แป้นตากใบ สถานที่สะอาด
ปลากุเลาถูกตากแขวนไว้ในเรือนที่มีมุ้งกางกันแมลงวัน ปลากกุเลาตัวใหญ่ๆ ถูกทำเค็ม นำไปยำรสชาติจัดจ้านถูกใจใครหลายๆคน แพ๊กเกจสวยงาม ซื้อเป็นของฝาก รับรองถูกใจผู้รับแน่นอน
ชุมชนวัดชลธาราสิงเห
จากนั้นมุ่งหน้าหาวัด แฮ่ๆ จิตใจจะได้ผ่องใสครับ เราไปที่วัดชลธาราสิงเห ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของชุมชน
วัดชลธาราสิงเห มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พรมแดนไทย-มาเลเซีย เนื่องจากเป็นสถานที่ ที่สยามใช้เป็นเหตุผลอ้างอิงในการปักปันเขตแดนในปี 2452 ในอดีตเมื่อมลายูตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษ โดยอังกฤษพยายามที่จะผนวกจังหวัดนราธิวาสให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอาณานิคม ด้วยกุศโลบายอันแยบยล สยามได้ใช้ข้ออ้างว่าวัดชลธาราสิงเห เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอตากใบ มีอาคารสถานที่และถาวรวัตถุเป็นแบบไทย ที่สร้างมาอย่างวิจิตรพิสดารทรงคุณค่าในเชิงศิลป์ ยากยิ่งที่คนต่างชาติจะสร้างสรรค์ได้ ประกอบกับท้องที่อำเภอตากใบมีวัด และคนไทยพุทธอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก สุดท้ายอังกฤษจึงได้ยอมรับให้เป็นจังหวัดนราธิวาสในประเทศไทยต่อไป มีผลให้ 4 อำเภอชายแดนไทยไม่ต้องผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย
มีชุมชนย่อยๆรวมกัน เช่น ชุมชนบางน้อย-ท่าพร ชุมชนตลาดตากใบ และชุมชนเกาะยาว มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวัดชลธาราสิงเหซึ่งเป็นวัดที่มีคุณค่าทางด้าน
ศิลปวัฒนธรรมและมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ทั้งในด้านของวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ อาณาเขต การปฏิสัมพันธ์ของผู้คน และการใช้วัดเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจ
ชุมชนวัดชลธาราสิงเหเป็นชุมชนที่มีความหลายทางด้านวัฒนธรรมและเชื้อชาติ มีทั้งชาวไทยพุทธดั้งเดิม ชาวไทยพุทธเชื้อสายจีน และชาวไทยมุสลิม ด้วยความเป็นพหุวัฒนธรรมนี้เองที่ทำให้มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของอาหาร
หลังจากเดินชมจุดต่างๆภายในวัดชลธาราสิงเหแล้ว ก็ได้เวลาอาหารเที่ยงครับ เราทานอาหารเมนูท้องถิ่น ที่ศาลาริมน้ำภายในวัดชลธาราสิงเห ก่อนอำลาตากใบ วัดชลธาราสิงเห และเกาะยาว
ขอบคุณองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ที่จัดทริปดีๆแบบนี้
สอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยวชุมชน ที่คุณประจักษ์ เทพคุณ ประธานชุมชนการท่องเที่ยววัดชลธาราสิงเห 085 056 9963 คุณบุญเรือน ไชยรัตน์ 083 725 4231 Facebook/ชุมชนท่องเที่ยวตากใบ เว็บไซต์ http://www.cbtdeepsouth.com
เที่ยวไปยิ้มไป เมืองไทยของเรา
จากใจ ชายคาตะวัน
เนื้อหาตอนต้นไป เขียนว่า อำเภอตากใบ จังหวัดยะลา
คือจริงๆต้อง อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาสค่ะ
อ้อ ขอบคุณครับผม
แก้แล้วครับผม
สวยงามครับ
ขอบคุณครับ